
ชื่อ แสตมป์ "ดุสิตธานี"
ภาพ เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขนาด กว้าง 1 ซ.ม. ยาว 1.5 ซ.ม.
สี ที่พบมี 2 สี คือ สีฟ้า และ สีน้ำตาล ตามภาพตัวอย่างที่ 1
จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อใช้ในเมืองจำลองดุสิตธานี มีวัตถุประสงค์ในการใช้ 2 ประการคือ
1. ใช้เป็นอากรแสตมป์บนใบเสร็จรับเงิน ตามตัวอย่างใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย ในภาพที่ 2 , 3
2. ใช้เป็นดวงตราไปรษณียากรสำหรับส่งจดหมายทางไปรษณีย์ในเมืองดุสิตธานี ตามตัวอย่างจดหมายในภาพที่ 4
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2461) พระองค์ได้ทรงสร้างเมืองจำลองขึ้นในพระราชวังดุสิต เพื่อใช้ทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทรงพระราชทานชื่อว่า "ดุสิตธานี"
เมืองดุสิตธานี สร้างขึ้นบนเนื้อที่ราวสองไร่ครึ่ง มีบ้านเรือนหลังเล็ก ๆ และยังมีสถานที่ต่าง ๆ เช่นพระราชวัง วัด สถานที่ราชการต่าง ๆ โรงพยาบาล โรงเรียน ธนาคาร ที่ทำการหนังสือพิมพ์ และอื่น ๆ อีกมาก ที่เหมือนกับเมืองจริง ๆ พระองค์ทรงให้พลเมืองในดุสิตธานี มีสิทธิในการเลือกคนที่ตนพอใจขึ้นมาบริหารบ้านเมือง เพื่อปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยแก่พลเมือง
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเห็นว่าหนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในระบอบประชาธิปไตย และทรงพยายามปลูกฝังให้ประชาชนรู้จักการใช้เสรีภาพอย่างมีขอบเขต และยังให้เสรีภาพแก่หนังสือพิมพ์ในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองได้อย่างกว้างขวาง พระองค์จึงทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการหนังสือพิมพ์เป็นอย่างยิ่งและยังทรงเป็นหลักอยู่เบื้องหลังในการออกหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ คือ
1. หนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย พิมพ์ออกจำหน่ายใรวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 เป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของดุสิตธานี ฉบับนี้ค่าบำรุงเดือนละ 3 บาท
2. หนังสือพิมพ์ดุสิตสักขี ออกครั้งแรกใช้ชื่อว่า เรคคอร์ดเดอร์ ต่อมาเปลี่ยนเป็น รีคอร์ดเดอร์ ภายหลังเปลี่ยนเป็นชื่อไทยว่า "ดุสิตสักขี"
3. หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ที่มีพระราชนิพนธ์ของพระองค์เป็นแกนหลัก ราคาเล่มละ 1 บาท รายได้จากการจำหน่ายหนังสือพิมพืเล่มนี้ทั้งหมดนำไปบำรุงราชนาวี

ใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงรายเดือนของหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย

นี่ก็ใบเสร็จของ น.ส.พ. ดุสิตสมัย

จดหมายที่ส่งทางไปรษณีย์ในเมืองดุสิตธานี