แสตมป์ไทย
แสตมป์ของไทย ในอดีตจัดพิมพ์โดยกรมไปรษณีย์โทรเลข ต่อมาได้แปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจใช้ชื่อว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย ในปัจจตุบันได้แปรรูปเป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นต้นมา
แสตมป์ซึ่ง ปณท. จัดพิมพ์ขึ้นจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ
1. แสตมป์ทั่วไป เป็นแสตมป์ที่พิมพ์ออกจำหน่ายเพื่อใช้งานอญุ่เป็นประจำและจะมีการพิมพ์เพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้เพียงพอแก่การใช้งานซึ่งจะมีอยู่ 2 แบบคือ
1.1 แสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลปัจจุบัน
1.2 แสตมป์รูปแบบอื่นตามที่ ปณท. จัดพิมพ์ขึ้น
2. แสตมป์ที่ระลึก เป็นแสตมป์ที่มีภาพสวยงาม จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในวาระพิเศษหรือเหตุการณ์และวันสำคัญต่าง ๆ (จำหน่ายหมดแล้วไม่มีการพิมพ์เพิ่มเติม)
3. แสตมป์พิเศษ เป็นแสตมป์ที่มีภาพสวยงาม จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สิ่งที่น่าสนใจของประเทศเป็นพิเศษ โดยไม่มีการกำหนดวาระและโอกาส เช่น แสตมป์ชุดไก่แจ้ ชุดผลไม้ไทย (จำหน่ายหมดไม่มีการพิมพ์เพิ่ม)

แสตมป์โสฬส
แสตมป์โสฬส เป็นแสตมป์ดวงแรกและชุดแรกของไทย พิมพ์ขึ้นใช้ในปี พ.ศ. 2426 พิมพ์ที่บริษัท WATERLOW AND SONS LTD ประเทศอังกฤษ ชุดโสฬส มีอยู่ 6 ดวง ประกอบด้วย 1 โสฬส 1 อัฐ 1 เสี้ยว ซีกหนึ่ง สลึงหนึ่ง และเฟื่องหนึ่ง เริ่มนำออกใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 แต่ใช้อยู่ 5 ดวง คือ 1 โสฬส 1 อัฐ 1 เสี้ยว ซีกหนึ่ง และสลึงหนึ่ง ส่วนเฟื่องหนึ่งส่งมาล่าช้า กรมไปรษณีย์จึงนำมาจำหน่ายเป็นแสตมป์เพื่อการสะสมในภายหลัง
ตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มดำเนินกิจการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย แสตมป์ที่ใช้ก็จะพิมพ์เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแต่ละรัชสมัย จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2490 จึงได้จัดพิมพ์แสตมป์โดยใช้รูปภาพอื่นขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นแสตมป์ที่จัดพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในวาระสำคัญต่าง ๆ และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาแสตมป์ไทยก็ออกสู่สายตาโลกเพื่อสะท้อนให้เห็นประเทศไทยในแง่มุมต่าง ๆมากยิ่งขึ้น นับจนถึงปัจจุบัน ปี 2547 ประเทศไทยได้จัดสร้างแสตมป์มาแล้ว เกือบ 1000 ชุด
<<สืบค้นแสตมป์เก่า>>

แสตมป์รัชกาลที่ 5 - รัชกาลที่ 9
1. แสตมป์โสฬส แสตมป์ดวงแรกของไทย ภาพ พระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5
2. แสตมป์ที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 6 ภาพ พระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 6
3. แสตมป์ที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 7 ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 7
4. แสตมป์ที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 8 ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 8
5. แสตมป์ที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 9 ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9

แสตมป์ทองดวงแรกของไทย

แสตมป์ที่ใช้ภาพอื่น ๆ หลากหลายรูปแบบ
การสะสมแสตมป์
เมื่อแสตมป์ชุดแรกของโลก "เพนนีแบล็ค (PENNY BLACK) ได้ออกจำหน่ายแล้ว ประเทศต่าง ๆ จึงได้จัดพิมพ์แสตมป์ออกมาใช้ในกิจการไปรษณีย์ของตนบ้าง
การสะสมแสตมป์ ได้เริ่มขึ้นหลังจากแสตมป์ชุดแรกของโลก ออกจำหน่ายมาแล้ว 2 ปี โดยสุภาพสตรีที่เป็นครู ได้เป็นผู้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ TIME OF LONDON ต้องการรับซื้อแสตมป์จำนวนมากเพื่อนำไปใช้ประดับฝาผนังบ้านของเธอ

แสตมป์ PENNY
อีก 10 ปีหลังจากนั้นครูอีกท่านหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศษ ได้ใช้แสตมป์เป็นสื่อในการสอนวิชาภูมิศาสตร์กับลูกศิษย์ของตน โดยให้ลูกศิษย์หาแสตมป์ที่ใช้แล้วของประเทศต่าง ๆ และยังให้ค้นหาด้วยว่าแสตมป์ที่นำมาเป็นของประเทศใดและประเทศนั้นอยู่บริเวณใดบนแผนที่โลก
การใช้แสตมป์เป็นสื่อการสอนทำให้เด็กได้รับความรู้และสนุกสนาน จึงได้มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นโดยมีการเก็บใส่อัลบั้ม
การสะสมแสตมป์ของไทยนั้นได้เริ่มมาพร้อมกับแสตมป์ชุดโสฬส โดยชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการและติดต่อค้าขายในบ้านเราได้เริ่มสะสมก่อน ต่อมาจึงได้นิยมกันในหมู่คนไทย
เนื่องจากการสะสมแสตมป์ สามารถทำได้ง่าย ซื้อหาก็ง่าย ราคาก็ไม่แพง และแสตมป์แต่ละดวงแต่ละชุดก็มีความสวยงามแตกต่างกันออกไป ทำให้ทั้งผู้สะสมและผู้พบเห็นเกิดความเพลิดเพลิน เบิกบานใจ และยังได้ความรู้ด้วย การสะสมแสตมป์จึงได้เริ่มแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา
แสตมป์ที่นิยมสะสมกัน มีอยู่ 3 ประเภท คือ
แสตมทั่วไป คือ แสตมป์ที่พิมพ์จำหน่ายอยู่เป็นประจำ เมื่อมีไม่เพียงพอก็จะมีการพิมพ์เพิ่มอีก รูปแแบบของแสตมป์จะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลปัจจุบันหรือรูปแบบอื่นตามที่ไปรษณีย์ไทยกำหนด
แสตมป์ที่ระลึก คือ แสตมป์ที่พิมพ์ด้วยภาพสวยงาม จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระพิเศษหรือเหตุการณ์และวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันมาฆะบูชา วันกาชาด ฯลฯ(จำหน่ายหมดไม่มีการพิมพ์เพิ่ม)
แสตมป์พิเศษ คือ แสตมป์ที่จัดพิมพ์ด้วยภาพสวยงาม จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์สิ่งที่น่าสนใจของประเทศเป็นพิเศษ เช่น แสตมป์ชุดผลไม้ ชุดป่า ฯลฯ(จำหน่ายหมดไม่มีการพิมพ์เพิ่ม)
แนวทางการสะสมแสตมป์
อันที่จริงแล้ว การสะสมแสตมป์มิได้มีกฎเกณฑ์ใด ๆ มาบังคับ ท่านสามารถเลือกแนวทางได้ด้วยตัวของท่านเอง แต่สำหรับผู้เริ่มต้นที่ไม่รู้ว่าจะเลือกแนวทางได้อย่างไร เราขอเสนอแนวทางของนักสะสมแสตมป์ในเมืองไทย ซึ่งได้เลือกสะสมแตกต่างกัน ดังนี้
1. สะสมเฉพาะแสตมป์ไทย โดยเก็บสะสมทุกชุด เรียงลำดับตามวันที่ออกจำหน่าย
2. สะสมแสตมป์ไทยบางชุดเฉพาะที่ชื่นชอบ โดยมีการกำหนดหัวข้อหรือเรื่องราวที่ต้องการสะสม เช่น ชุดที่เกี่ยวกับสัตว์ พืช ดอกไม้ บุคคลสำคัญ ฯลฯ
3. สะสมแสตมป์จากต่างประเทศทั่วโลก โดยกำหนดหัวข้อและเรื่องราวที่ต้องการสะสมเช่นเดียวกับ ข้อ 2 เรียกกันทั่วไปว่า การสะสมแบบ THEMATIC
4. สะสมทั้งแสตมป์ไทยและแสตมป์ต่างประเทศ โดยแยกหัวข้อและเรื่องราวให้อยู่ในกลุ่มและหมวดหมู่เดียวกัน
หมายเหตุ การสะสมแสตมป์ควรมีแสตมป์หลาย ๆ ชุด จะทำให้ท่านสามารถแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ได้ จะเป็นแนวทางในการหาแสตมป์มาสะสมได้หลากหลายขึ้น แสตมป์สะสมของท่านก็จะหลากหลายขึ้นทำให้ท่านได้รับความเพลิดเพลินได้อีกรูปแบบหนึ่ง
วิธีการสะสมแสตมป์ที่นักสะสมทั่วโลกใช้กัน
การสะสมแสตมป์มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ
1. สะสมแสตมป์ใช้แล้ว วิธีนี้สามารถทำได้ง่ายและเป็นวิธีที่ประหยัด เพราะท่านสามารถหาแสตมป์ได้จากซองจดหมายที่ส่งมาถึงท่านหรือบุคคลในครอบครัว แต่จะมีปัญหาอยู่นิดหนึ่งตรงที่ว่าบางครั้งท่านไม่อาจหาเก็บให้ครบชุดได้
วิธีทำให้แสตมป์หลุดออกจากซองก็ไม่ยาก เพียงแต่ท่านตัดแสตมป์ออกจากซองโดยเว้นระยะให้ห่างจากฟันแสตมป์ด้านละ 2 ซม. แล้วนำไปแช่น้ำสะอาด พักหนึ่งแสตมป์ก็จะหลุดออกมา นำแสตมป์ไปผึ่งลมบนกระดาษที่ซับน้ำได้ดี พอแสตมป์แห้งหมาด ๆ ให้นำไปใส่ไว้ในสมุดหนา ๆ ทับไว้ แสตมป์ก็จะเรียบและแห้งสนิท
2. สะสมแสตมป์ยังไม่ได้ใช้ วิธีนี้สามารถทำให้ท่านหาแสตมป์ที่ครบชุดได้ง่ายขึ้น และท่านสามารถเก็บได้มากตามความต้องการ แต่ก็ต้องควักเงินซื้อหากันหน่อยนะครับ แต่จะเป็นการดีในบั้นปลายนะครับ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป แสตมป์ที่จำหน่ายอยู่ที่ไปรษณีย์หมดลงโดยเฉพาะแสตมป์ที่ระลึกและแสตมป์พิเศษ จะไม่มีการพิมพ์เพิ่ม อันจะทำให้แสตมป์ที่ท่านสะสมไว้กลับมีราคาสูงขึ้น ถ้าบังเอิญในเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ แสตมป์ชุดนี้เหลือเพียงหนึ่งเดียวในโลก แสตมป์ที่ท่านสะสมก็จะกลับทวีมีคุณค่ามากขึ้น
ข้อแนะนำสำหรับการสะสมแสตมป์
- ควรสะสมให้ครบชุด ไม่ว่าจะเป็นแสตมป์ใช้แล้ว หรือแสตมป์ใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้
- ควรเก็บแสตมป์ที่มีรอยปรุ หรือฟันแสตมป์ให้ครบสมบูรณ์
- ควรเก็บแสตมป์ไว้ในอัลบั้มสำหรับเก็บแสตมป์ และไว้ในตู้หรือชั้นที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- ควรจัดวางอัลบั้มในแนวตั้ง เพราะการวางทับกันในแนวนอน ทำให้แสตมป์ติดแน่นกับอัลบั้ม
- ควรเก็บอัลบั้มให้ห่างจากความร้อน หรือสารเคมี เพราะจะทำปฏิกิริยากับสีของแสตมป์
- ควรแยกแสตมป์ที่ชำรุดไว้ต่างหาก และหลีกเลี่ยงการสะสมแสตมป์ที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์ เช่น มุมแหว่ง หรือรอยตราประทับเลอะเลือน
ข้อห้ามสำหรับการสะสมแสตมป์
- ต้องไม่ใช้มือหยิบ จับ แสตมป์บ่อย ๆ เพราะจะทำให้แสตมป์ช้ำหรือยับ การจัดแสตมป์ลงอัลบั้มควรใช้ปากคีบเท่านั้น
- ต้องไม่ขีดเขียนข้อความใด ๆ ไว้ที่ด้านหลังของแสตมป์ เพราะจะทำใแสตมป์เสียสภาพ
- การเก็บแสตมป์ ต้องไม่ให้ถูกแสงแดด เพราะแสงแดดจะทำให้สีของแสตมป์ซีด
(ข้อมูลจากหนังสือคู่มือการสะสมแสตมป์ พ.ศ.2544 กองตราไปรษณียากร กสท. จัดพิมพ์)
ตัวอย่างแสตมป์ไทยที่น่าสะสม

ชุดเอเชี่ยนเกมส์

แสตมป์เก่าใช้แล้วชุดไทรบุรีที่นักสะสมอยากมีไว้ในครอบครอง

แสตมป์เก่าใช้แล้วชุด รัชกาลที่ 9 ก็น่าสนใจ

ชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
วันแรกจำหน่าย 12 สิงหาคม 2547
ราคา 100 บาท
ภาพ พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน ประทับบนพระราชอาสน์

ชุดที่ระลึกงานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ. 2546 (ชุด 3)
วันแรกจำหน่าย 4 ตุลาคม 2546
ชนิดราคา 3.00 บาท , 3.00 บาท , 3.00 บาท และ 15.00 บาท
ภาพ ศิลปหัตกรรมไทย 4 ภาค

ชุดอนุรักษ์มรดกไทย 2536

ชุดไก่แจ้
วันแรกจำหน่าย 10 มิถุนายน 2546
ชนิดราคา 3.00 บาท , 3.00 บาท , 3.00 บาท และ 15.00 บาท
ภาพ ไก่แจ้สายพันธ์ไทย
รูปแบบการสะสมแสตมป์
การะสมแสตมป์ไม่มีรูปแบบตายตัวแน่นอน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของนักสะสมเป็นสำคัญ แต่ที่นักสะสมหลาย ๆ ท่านนิยมก็คือ
1. การสะสมแบบเดี่ยว ใช้กับแสตมป์ที่ใช้ภาพเดียวกันทั้งชุด ในหนึ่งแผ่นจะมีแสตมป์ภาพเดียวกัน 20 ดวง นักสะสมมักนิยมเลือกซื้อแยกเป็นดวง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักสะสมที่เป็นเด็ก ๆ หรือผู้เริ่มต้นสะสมแสตมป์มักจะเลือกแบบนี้ เพราะประหยัด
2. การสะสมแบบบล็อค 4 คือการสะสมแสตมป์ 4 ดวงติดกัน
3. การสะสมแบบทั้งแผ่น คือการซื้อแสตมป์ที่มีรูปภาพเดียวกันทั้งแผ่นมาสะสม ถึงแม้จะเป็นแสตมป์ชุดที่มีหลายแบบในชุดเดียวกันแต่ละแบบรูปภาพไม่เหมือนกัน นักสะสมมักซื้อยกแผ่นทุกแบบ แต่ก็มีนักสะสมบางรายที่นิยมเลือกสะสมแบบ 10 ดวงติดกันหรือครึ่งแผ่น
4. การสะสมเป็นชุด เหมาะสำหรับแสตมป์ชุดที่มีหลายแบบในชุดเดียวกัน ภาพบนแสตมป์แต่ละแบบไม่เหมือนกัน การสะสมแบบนี้จะได้แสตมป์ครบชุด (แสตมป์ชุดไม่ควรซื้อแยกทีละแบบจะทำให้ได้แสตมป์ไม่ครบชุด เมื่อคิดอยากได้ครบชุดในภายหลังอาจหาได้ยากหรือหาไม่ได้อีกแล้วก็ได้)

ตัวอย่างการสะสมแบบเดี่ยว

ตัวอย่างการสะสมแบบบล็อค 4

ตัวอย่างการสะสมแบบทั้งแผ่น

ตัวอย่างการสะสมแบบชุด